ประโยชน์ของการอ่านหนังสือ 2 – กิจกรรมและไอเดียดีๆสำหรับการอ่านหนังสือ

อ่านหนังสือในช่วงตั้งครรภ์

การอ่านหนังสือให้ลูกฟังไม่มีคำว่าเร็วเกินไป ยิ่งอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลดีต่อความสามารถของเด็ก มหาวิทยาลัยฟลอริดาพบว่าทารกในครรภ์ที่มีอายุ 28 – 34 สัปดาห์สามารถจดจำเพลงเด็กที่คุ้นเคยได้ ซึ่งการค้นพบนี้เผยให้เห็นว่าเด็กทารกนั้นมีความรู้สึกไวต่อสิ่งรอบตัวมากกว่าที่เราได้เคยคิดไว้

วิธีที่เราจะช่วยกระตุ้นทารกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์นั้นมีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่

– ให้ลูกฟังเพลง โดยเปิดเพลงคลาสสิคให้ลูกฟัง

– อ่านหนังสือนิทานหรือเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้ลูกฟัง

– ร้องเพลงให้ลูกฟัง

– คุยกับลูกและให้ลูกได้ทำความคุ้นเคยกับเสียงของคนใกล้ตัวเช่น ลุง ป้า พ่อและแม่

อ่านหนังสือกับเด็กๆ

American Academy of Pediatrics ได้กล่าวไว้ว่าการอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนา และการอ่านจะช่วยกระตุ้นเด็กๆในเรื่องของจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาความสามารถในการสื่อสาร และยังทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องตัวเลข ตัวอักษร รูปทรง และเรื่องอื่นๆ อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงอายุที่เริ่มมีการปฏิสัมพันธ์แบบสองทางระหว่างพ่อแม่และเด็ก

– เด็กๆชอบทำอะไรที่เป็นกิจวัตร ดังนั้นการจัดเวลาให้ลูกนั้นสำคัญมาก เพราะมันจะเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กๆรักการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก

– เด็กๆจะไม่เข้าใจทุกเรื่องที่พูด แต่การอ่านหนังสือและจ้องมองหนังสือไปด้วยกันจะทำให้เด็กๆเริ่มที่จะจดจำคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้

– เลือกหนังสือที่มีรูปภาพและสีสันสดใส คุณไม่ควรจะให้ข้อมูลกับลูกของคุณมากเกินไป ลองปล่อยให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเขา ในขณะที่คุณอ่านหนังสือกับลูกลองชี้ไปที่ภาพและทำเสียงให้เข้ากับตัวละครต่างๆและให้เด็กๆได้ใช้เวลาดูหนังสือแต่ละหน้าอย่างเต็มที่ หนังสือสัมผัสที่มีส่วนที่เด็กๆสามารถจับและสัมผัสได้นั้นจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาในเรื่องของการสัมผัสและรู้สึก

– การร้องเพลงสำหรับเด็กและเต้นก็เป็นอีกวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ พยายามอย่าเพียงแค่อ่านออกเสียงให้ลูกฟังแต่พยายามทำให้เพลงและเรื่องราวมีชีวิตชีวา ลูกของคุณจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อภาษากายของคุณดังนั้นจงสนุกกับมัน

– ใช้ของเล่นที่ลูกคุณมีในการสร้างเรื่องราวและสร้างความคุ้นเคยและลองให้เด็กๆได้ใช้ความคิดสร้างสรรของเขาเล่าเรื่องต่อเมื่อคุณหยุดอ่าน

การอ่านหนังสือกับเด็กเล็ก

ในเด็กอายุ 2-3 ขวบจะมีการพัฒนาในด้านภาษาและคำศัพท์มาก Babara Zurer Pearson ผู้เขียนหนังสือ “Raising a bilingual child” ได้บอกว่าเด็กๆสามารถแยกความแตกต่างของภาษาได้ ดังนั้นยิ่งเด็กๆอยู่ท่ามกลางหลากหลายภาษามากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น อีกทั้งการอ่านหนังสือร่วมกันจะทำให้เด็กมีการตอบสนองได้ดีขึ้น มีเกมโฟนิคส์หลายๆเกมที่เด็กอายุเท่านี้สามารถเล่นได้ คุณสามารถดูวีดีโอการสอนโฟนิคส์บนเฟซบุ๊คหรือบล็อคของเราได้เพื่อเป็นแนวทางในการสอน ส่วนในเรื่องของการอ่านหนังสือกับเด็กเล็กนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

เลือกหนังสือที่มีเรื่องราวซ้ำๆ เด็กๆชอบเมื่อพวกเขารู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นถัดไปและชอบประโยคซ้ำๆ ซึ่งสิ่งนั้นจะทำให้พวกเขามีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวและทำให้พวกเขารู้สึกสนุกได้โดยที่ไม่ต้องอ่านเอง

แสดงบทบาทสมมติจากเรื่องที่อ่านกับลูก เมื่อคุณอ่านหนังสือให้ลูกฟังจบแล้วและลูกของคุณรู้เรื่องราวนั้นดี ลองแสดงบทบาทสมมติจากเรื่องด้วยกัน โดยที่คุณอาจจะสร้างปราสาทจากผ้าปูที่นอน หรือบ้านที่สร้างจากกิ่งไม้ และพยายามทำให้เหมือนกับว่าลูกของคุณอยู่ในเรื่องนั้นๆ

ให้ลูกของคุณวาดตัวละครที่เขาชอบจากเรื่องที่อ่าน การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านจะช่วยอธิบายเกี่ยวกับตัวละคร และคุณสามารถบอกให้เด็กๆสร้างตัวละครขึ้นมาใหม่สำหรับเรื่องนั้นได้ด้วยเช่นกัน

แต่งเรื่องใหม่ด้วยกัน ลองแต่งเรื่องด้วยกันโดยการพูด หรือคุณอาจจะเขียนคำบรรยายต่างๆและให้ลูกของคุณใส่ภาพประกอบ และช่วยกันทำหนังสือนิทานเป็นของตัวเองก็ได้

แต่งเรื่องจากรูปภาพ ออกไปเที่ยวกับลูกและถ่ายรูปด้วยกัน ลองให้ลูกของคุณคิดประโยคสำหรับแต่ละรูป สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยคุณสามารถเขียนไดอารี่ร่วมกันโดยเขียนว่าคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับแต่ละช่วงของวัน สิ่งนี้จะทำให้เด็กๆเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของคุณด้วยเช่นกัน

หาหนังสือด้วยกัน สิ่งสำคัญอย่างหนี่งของการอ่านที่คนมักจะมองข้ามคือ การไปหาหนังสือด้วยกันและเลือกเล่มที่ทั้งคุณและลูกชอบ

เอาข้อความไปซ่อน นี่เป็นอีกวิธีที่สนุกอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกของคุณชอบอ่านหนังสือ ลองเขียนโน้ตและซ่อนไว้ให้ทั่วบ้าน และให้รางวัลเมื่อลูกหาโน้ตเหล่านั้นเจอ

ล่าสมบัติ เด็กๆชอบเล่นเกมล่าสมบัติ แต่งตัวให้เหมือนโจรสลัดและสร้างด่านไว้ พาเด็กๆไปรอบๆบ้านและทำตามคำใบ้ต่างๆเพื่อหาสมบัติ

แสดงบทบาทสมมติ เล่นบ้านตุ๊กตา หรือหาสิ่งที่เด็กๆชอบและแต่งเรื่องไปกับพวกเขา คุณสามารถแสดงบทบาทสมมติโดยไม่ต้องเตรียมการมาก่อนหรือแต่งเรื่องมาก่อนแล้วแสดงบทบาทสมมติก็ได้

อ่านหนังสือร่วมกัน หากลูกคุณเริ่มอ่านหนังสือได้ด้วยตัวเองจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาจะต้องอ่านทั้งเล่มหรือทั้งหน้าดังนั้นพ่อแม่ควรจะแบ่งให้เขาอ่าน ให้พ่อแม่อ่านทีละหนึ่งบรรทัดและทำเหมือนกับว่าคุณอ่านไม่ออกและขอให้เด็กๆช่วยซึ่งจะดีกว่าการที่บอกให้เด็กๆอ่าน ทำให้ลูกของคุณเห็นว่าแม้กระทั่งผู้ใหญ่เองบางครั้งก็ยังอ่านไม่ออกดังนั้นการที่อ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่ใช่เรื่องน่าอาย

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการอ่านหนังสือร่วมกันคือการหาสิ่งที่ลูกของคุณชอบมากที่สุด แนวทางทั้งหมดที่กล่าวมาอาจในข้างต้นอาจจะไม่เหมาะกับเด็กทุกคน แต่มันก็มีหลายวิธีที่จะดึงความสนใจของเด็กๆได้ พยายามใช้วิธีที่เป็นการอ่านร่วมกันและทั้งคุณและลูกจะมีความสุขไปกับมัน

สามารถดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของการอ่านได้ที่โพสก่อนหน้านี้